วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

การอ่านแบบScanning


      การอ่านแบบคร่าว (Scanning) คือการอ่านเร็วที่ไม่ได้ค้นหาความคิดสำคัญของเรื่อง แต่ค้นหาข้อมูลเฉพาะที่ต้องการทราบ เช่น ข้อเท็จจริง วันที่ ชื่อ สถิติ เป็นต้น อย่างที่หลายท่านทราบ Scanning คือการอ่านเร็ว เหมือนกับ Skimming แต่ต่างกันตรงที่ Scanเป็นการอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อหาข้อมูลบางอย่างที่ต้องการ เช่น การหาชื่อคนในสมุดโทรศัพท์ เป็น
      ตัวอย่างที่ดีของการ Scan วิธี Scan นี้มีประโยชน์มากในการอ่าน เพราะทำให้ได้ข้อมูลที่ต้องการภายในเวลารวดเร็ว เช่น ในเวลาอ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้เรียนอาจต้องหาเพียง ชื่อ วันที่ สถิติ หรือข้อเท็จจริงบางอย่างเท่านั้น ผู้เรียนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ่านเรื่องทั้งหมด เพียงแต่กวาดสายตาอย่างรวดเร็ว ทีละ 2 – 3 บรรทัด เพื่อหาสิ่งที่ต้องการ แต่ที่สำคัญคือ ผู้เรียนต้องรู้อยู่ตลอดเวลาว่า กำลังหาอะไร ในใจ จะต้องกำหนดสิ่งนั้นอย่างชัดเจน เพื่อที่เวลาอ่านจะได้รู้สึกว่สิ่งที่ต้องการจะปรากฏออกมาอย่างเด่นชัด
เคล็ดลับการ scan (Tips and Tricks)
    อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การอ่านแบบรวดเร็ว เพื่อหาคำตอบที่ต้องการ เช่น การหาเบอร์โทรศัพท์ในสมุดโทรศัพท์การค้นหาดรรชนีในหนังสือตำราเรียนการอ่านโฆษณาต่าง ๆ หรือแม้แต่การค้นหาคำศัพท์ในพจนานุกรม ชุดของคำถามที่ผู้เรียนมักจะเจอ ในการถามรายละเอียดในการอ่านแบบ scanning อาจมีดังนี้ According to the passage , The passage states that,  The author states that,  What does the author say about,  Which of the following is not true?,  Which of the following is not stated in the passage?,  All of the followings are true except.
ขั้นตอนง่ายๆในการอ่านด้วยวิธี Scanning มีดังนี้
       1.  อ่านคำถามเกี่ยวกับข้อความนั้น ๆ ก่อนเพื่อประหยัดเวลา และช่วยในการหาคำตอบได้รวดเร็วขึ้น
       2.  อ่านข้อความ หรือ scan ย่อหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อพบข้อความเกี่ยวกับคำตอบแล้ว ให้อ่านช้าลงและรอบคอบระมัดระวัง และพยายามหาคำและกลุ่มคำที่สำคัญ (Key words and phrases) ที่จะช่วยให้คำตอบที่ถูกต้อง
       3.  หากเป็นข้อสอบแบบเลือกตอบ (Multiple choices) ให้ตัดคำตอบที่ผิดออกและเลือกคำตอบที่ดีที่สุดที่เหลืออยู่
วิธีการอ่านแบบคร่าวที่มีประสิทธิภาพมีขั้นตอนดังนี้
สำรวจข้อเขียนนั้นโดยภาพรวมว่ามีโครงสร้างแบบใด
  เพื่อประโยชน์ใน การค้นหาว่าประเด็นสำคัญอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง หัวเรื่องย่อยต่าง ๆ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบอกประเด็นสำคัญของเรื่อง ในการอ่านแบบคร่าวนี้ส่วนประกอบที่เป็น แผนที่ ตาราง กราฟ แผนภูมิ แผนผัง ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยบอกสาระสำคัญของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการอธิบายได้
รู้วัตถุประสงค์ของการอ่านว่าเราต้องการค้นหาอะไรจากข้อเขียนนั้น
วัตถุประสงค์ของการอ่านจะเป็นสิ่งกำหนดเป้าหมายว่าเราต้องการคำตอบในเรื่องใด ผู้อ่านควรตั้งวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้การค้นหาคำตอบเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น
คาดเดาหรือทำนายจากการใช้คำในเรื่อง
  เช่น หากเรา ต้องการทราบจำนวนประชากร เราก็ต้องมองหาตัวเลขในเรื่องนั้น หากเราต้องการทราบการนิยามความหมายของคำก็อาจมองหาข้อความที่มีลักษณะการพิมพ์แตกต่างไปจากปกติ เช่น ตัวเข้ม ตัวเอียง หรือใช้เครื่องหมายคำพูด เป็นต้น
ระบุตำแหน่งที่น่าจะค้นหาคำตอบที่ต้องการทราบได้
การค้นหาตำแหน่งที่น่าจะพบคำตอบนี้ใช้วิธีการเดียวกับการอ่านแบบข้าม ได้แก่ การดูที่ย่อหน้าแรก ประโยคแรกหรือประโยคสุดท้ายของย่อหน้า หัวเรื่อง และย่อหน้าสุดท้าย
ใช้รูปแบบการค้นหาที่เป็นระบบ
เมื่อทราบวัตถุประสงค์ในการอ่าน ว่าต้องการอะไร และตำแหน่งที่จะค้นหาคำตอบได้อยู่ที่ใดแล้ว ก็เริ่มอ่านแบบคร่าวโดยกวาดสายตามองข้อเขียนนั้นอย่างรวดเร็วแต่มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน อย่างไรก็ตามลักษณะการกวาดสายตาก็ขึ้นอยู่กับการจัดวางเนื้อหาของข้อเขียนนั้นด้วยว่าต้องกวาดสายตาอย่างไร เช่น จากซ้ายไปขวา หรือจากบนลงล่าง เป็นต้น
ยืนยันคำตอบที่ต้องการจากการอ่าน
ทันทีที่เราตอบคำถามตัวเองได้ว่าต้องการคำตอบในเรื่องอะไรแล้ว ก็ลงมืออ่านเพื่อค้นหาประโยคที่คิดว่าจะเป็นคำตอบ
ตรวจดูบัญชีรายชื่อและตาราง
สิ่งสำคัญในการอ่านแบบคร่าวก็คือ เราต้องเข้าใจว่าผู้เขียนมีวิธีเรียบเรียงและจัดแบ่งข้อมูลต่าง ๆ อย่างไร เช่น การค้นหารายการโทรทัศน์ที่มีวิธีการจัดแบ่งตามวันและเวลาที่ออกอากาศ แต่อยู่ภายใต้การจัดแบ่งตามสถานีและชื่อรายการ หรือในหนังสือพจนานุกรม สารานุกรม จะมีการจัดเรียงคำตามลำดับตัวอักษร คำที่อยู่บรรทัดบนสุดของหน้ากระดาษจะเป็นตัวชี้ให้ทราบว่าคำแรกและคำสุดท้ายในหน้านั้นคือคำใด ช่วยให้ผู้อ่านค้นหาคำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ในการอ่านแบบคร่าวก็เช่นกัน เรามักใช้วิธีดูที่อักษรตัวแรกของแต่ละบรรทัดว่าตรงกับคำที่เราต้องการหรือไม่ หากไม่พบก็อาจดูสองคำแรก จนกว่าจะพบคำที่ต้องการค้นหา
การค้นหาคำตอบจากข้อเขียนแบบพรรณนา
โครงสร้างของ ข้อเขียนที่มีรูปแบบการเขียนแบบพรรณนานั้นมักค้นหาได้ยากกว่าข้อเขียนที่เขียนในรูปแบบของการจัดวางเป็นคอลัมน์ หรือตาราง การอ่านข้อเขียนประเภทนี้แบบคร่าว ๆ ส่วนใหญ่แล้วต้องอาศัยการค้นหาคำที่แสดงร่องรอยให้เราสามารถคาดเดาเรื่องราวได้ ในการอ่านข้อเขียนลักษณะดังกล่าวเราต้องกวาดสายตาดูที่ย่อหน้าต่าง ๆ ให้ทั่วถึง พยายามให้คำสำคัญหรือ คีย์เวิร์ด (Keyword) ที่จะช่วยในการตอบคำถามของเราเด่นชัดขึ้นมา

ที่มา  http://achiraya54.blogspot.com/2011/03/scanning.html